|
|
การทำประกันชีวิตเพื่อหักลดหย่อนภาษี |
สำหรับผู้ที่สนใจประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี แนะนำของธนาคารออมสินแบบ 10/1 หรือ 10/2
เพราะให้ผลตอบแทนต่อปี หรือ IRR สูงที่สุด (ทางเราไม่มีขายนะครับ ติดต่อที่ธนาคารได้โดยตรง)
|
การลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้มีเงินได้/ผู้ที่ทำงานรับเงินเดือนประจำนิยมมากในปัจจุบัน เพราะนอกจากผู้มีเงินได้/ผู้เอาประกันจะได้รับประโยชน์จากการเสียภาษีน้อยลงโดยตรงแล้ว ยังได้รับประโยชน์อื่นๆจากกรมธรรม์ประกันชีวิตอีกด้วย เช่น มีเงินเก็บออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต ได้รับผลประโยชน์ในรูป เงินคืนรายปี เงินคืนเมื่อครบอายุกรมธรรม์ เงินปันผลรายปี ค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล ความคุ้มครองชีวิตในวงเงินที่สูงกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป
วิธีการหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเบี้ยประกันชีวิตนั้น กรมสรรพากรให้สิทธิผู้มีเงินได้เอาเงินที่จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันเกษียณ ประกันบำนาญ มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีเป็น 2 ส่วนดังนี้
- 1. สิทธิการลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาทต่อปี แต่ผู้เอาประกันหรือผู้มีเงินได้ ต้องทำประกันชีวิต แบบที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- 2. สิทธิการลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและไม่มีเงินคืนระหว่างทางจำนวน 200,000 บาทต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 15 % ของเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่จ่ายเข้ากองทุนประเภทเดียวกัน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เมื่อนำสิทธิการลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตทั้ง 2 ส่วนมารวมกันแล้ว ผู้มีเงินได้มีสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 300,000 บาทต่อปี
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการหักลดหย่อนภาษี
- กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีเงินปันผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันสะสม (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการชำระเบี้ยประกัชีวิตหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์)
- เบี้ยประกันชีวิต หมายถึง เบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์ประกันชีวิตหลัก
- เบี้ยประกันภัยของสัญญาเพิ่มเติม ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิ์หักลดหย่อนทางภาษีได้
ตัวอย่าง หากทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 10/5 (คุ้มครอง 10 ปี ชำระเบี้ยประกัน 5 ปี) ชำระเบี้ยประกันชีวิตรายปี ปีละ 100,000 บาท และเป็นผู้มีเงินได้ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี 20 % ดังนั้น เมื่อนำใบรับเบี้ยประกันภัยจำนวน 100,000 บาท ที่ได้จ่ายประกัน ไปใช้ในการยื่นภาษีเพื่อหักลดหย่อนภาษี จะสามารถนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนภาษีได้ปีละ 100,000 x 20% = 20,000 บาท
และสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีนี้จะคงอยู่ตลอดเวลาที่มีการชำระเบี้ยประกันภัย หมายถึง หากซื้อประกันแบบที่ชำระเบี้ยประกัน 5 ปี ก็จะได้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันไป 5 ปี ของกรมธรรม์ข้างต้น
|
|
|
|
|
|
|
|